มนุษย์นึกถึงความตายบ่อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นความตายของตัวเองหรือพ่อแม่ที่แก่ชรา
เราอาจนึกจินตนาการถึงความตายของคนที่เรารัก ใช่หรือไม่ว่า หลายครั้ง เรากลับนึกถึงตัวเราเองต่างหากว่าจะเป็นอย่างไร ทำใจได้ไหม เมื่อเวลานั้นมาถึง
ก่อนวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมาไม่กี่วัน ผู้เขียนได้ฟังเรื่องราวบางช่วงของ ประมวล ใจวิจิตร ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายวัย 67 ปี ที่จากโลกนี้ไปแล้วกว่า 2 ปี จากความทรงจำของลูกสาว อิรชิฏา ใจวิจิตร
ในช่วงท้ายของชีวิต ประมวลมีเจตจำนงค์ที่จะเลือกตายอย่างสงบที่บ้านท่ามกลางครอบครัว ไม่ใช่ที่โรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยเครื่องมือพยุงชีพในวันที่ร่างกายไม่อาจฝืนความเป็นไปของโรค
"ทำคีโมหลาย ๆ ครั้งเข้า คุณแม่ก็ไม่ไหว แม่บอกว่าการที่ทำแบบนี้ แม่คิดว่าจะเป็นมะเร็งตายดีกว่า ทำคีโมอาจจะทรมานกว่า เป็นมะเร็งอาจจะไม่ทรมานเท่าคีโมก็ได้ แม่คิดแบบนี้ก็ตัดสินใจว่าหยุด" อิรชิฏา เล่าถึงการตัดสินใจของแม่
ประมวล ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งที่ปอดก่อนในครั้งแรก เมื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดในครั้งต่อ ๆ มา พบว่ามะเร็งปรากฏที่ลำไส้ใหญ่ กระดูก และต่อมน้ำเหลือง
สองแม่ลูกเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้งหลังจากแพทย์วินิจฉัยครั้งแรก กินระยะเวลากว่า 9 เดือน ในการพยายามรักษาด้วยการฉายแสงและเคมีทั้งสิ้น 18 ครั้ง การต่อสู้กับมะเร็งในอวัยวะหลายส่วน ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย ทั้งการอาเจียน ท้องเสียรุนแรง และบาดแผลที่ลิ้น มือ เท้า เป็นความเจ็บปวดทรมานสาหัสที่ผู้เป็นลูกเห็นแม่ต้องเผชิญ
“เห็นด้วยไหมกับการตัดสินใจของคุณแม่”
อิรชิฏา ตอบว่า "สงสารที่ท่านปวดร้าวทุกสิ่งอย่าง" และไม่อยากเห็นคุณแม่ใช้ช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตเจ็บปวดจากการพยายามสู้กับโรคร้าย
"ไม่ว่าสูตรคีโม จะรุนแรงต่อเนื่องแค่ไหน รุนแรงแค่ไหน ท่านจะอยู่ได้เพียงเท่านี้ ก็ทำให้ตัดสินใจว่าการเจ็บปวดขนาดนี้ แล้วให้คุณแม่มีชีวิตที่เหลืออยู่อย่างทุกข์ทรมาน จนกว่าท่านจะจากไป มันอาจจะไม่ได้เป็นความคิดที่ไม่ได้สร้างสรรค์ และไม่ได้เป็นการกตัญญูต่อคุณแม่ เพราะว่าท่านจะต้องทรมานแบบนี้ในเวลาอันน้อยนิดของท่าน สู้ให้ท่าน อยู่อย่างมีความสุขที่สุดในเวลาที่เหลืออยู่ ที่มีอยู่ดีกว่าถ้าเราทราบถึงขั้นนี้"
ในตอนแรกครอบครัววางแผนว่า เมื่อหยุดการรักษาจะใช้วิถีการดูแลแบบแพทย์ทางเลือกเป็นหลัก จนได้รู้จักกับ “เยือนเย็น” วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ให้คำปรึกษากับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทำให้ครอบครัวได้รู้จักกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองหรือ Palliative care
เว็บไซต์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อ้างอิงนิยามขององค์การอนามัยโลก เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือระยะประคับประคอง หรือ palliative care ไว้ว่า เป็น วีธีการดูแลผู้ป่วยที่ป่วยเป็นระยะสุดท้ายของโรคและครอบครัว โดยให้การป้องกันและบรรเทาอาการตลอดจนความทุกข์ทรมานด้านต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
การดูแลเน้นการดูแลที่เป็นองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพอัน ได้แก่ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วยเป้าหมายหลักของการดูแลคือ การลดความทรมานของผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว และทำให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างสงบหรือ “ตายดี”
หลักการสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
อิรชิฏา เล่าว่า เมื่อครอบครัวเปิดรับการดูแลด้วยวิธีแบบประคับประคอง ขั้นตอนแรกของการเข้าสู่การดูแลรูปแบบนี้ คือ การได้รับฉันทามติจากสมาชิกในบ้าน ที่ต้องทำความเข้าใจถึงหลักการสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง นั่นคือการปราศจากการยื้อชีวิตในขณะที่ร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนจากภาวะของโรคได้แล้ว
“เพื่อไม่ให้มีการขัดแย้งกัน คุณหมอจะถามพวกเราทุกคนว่า เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ทุกคนในครอบครัวมาอยู่รวมกัน เห็นพ้องว่าตามนี้” อิรชิฏา เล่า
หลังจากนั้นคำถามแรกที่คุณแม่ถูกถามจาก ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้ก่อตั้ง “เยือนเย็น” วิสาหกิจเพื่อสังคม คือ คำถามเรียบง่ายว่า คุณแม่อยากทำอะไร
สิ่งที่ประมวลตอบออกไปในวันนั้น เป็นวิถีชีวิตที่เธอทำมาเนิ่นนานคือ การเดินทางสายพุทธศาสนาด้วยกิจวัตรการทำบุญเหมือนช่วงที่สุขภาพยังแข็งแรง
"คุณแม่บอกค่ะ อยากไปไหว้พระพุทธชินราชที่พิษณุโลก ที่บ้านเกิดของคุณแม่ แล้วก็อยากจะไปทำบุญต่อที่ท่านเคยชอบทำน่ะค่ะ คุณหมอก็บอกว่าให้ทำได้เลยนะ ให้พาไปเลย เมื่อหยุดคีโม คุณแม่ก็เริ่มฟื้นจากอาการแพ้ทุกอย่าง แล้วเราก็เดินทางไปกันได้ค่ะ" อิรชิฏา กล่าวถึงช่วงเวลาที่ คุณแม่ได้ใช้ชีวิตตามที่ต้องการในช่วงสุดท้าย ซึ่งเธอมองว่ามีส่วนช่วยในด้านจิตใจของแม่
“ทำให้ท่านอยู่ได้เหมือนบุญหล่อเลี้ยงท่าน จนท่านอยู่ได้เพิ่มขึ้น เวลาเพิ่มขึ้น ความทรมานที่ควรจะมากกว่านี้ก็สามารถจัดการได้”
ระหว่างการประคับประคองชีวิตของแม่ ในสายตาของลูกที่ดูแลใกล้ชิด อิรชิฏา เห็นว่า ชีวิตประจำวันของแม่มีความสุขมากขึ้น จากวันที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งว่าจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 7 เดือน การได้ดำเนินชีวิตช่วงท้ายอย่างสงบที่บ้านและทำตามที่ผู้ป่วยปรารถนาในห้วงสุดท้าย ทำให้ประมวลมีชีวิตได้อีกเกือบ 2 ปี นับจากนั้น
อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางของการดูแล ก็ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจถึงสภาพเงื่อนไขของร่างกายและขั้นตอนของโรค
การดูแลของวิสาหกิจเยือนเย็น เริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษาและการเตรียมตัวในการดูแลผู้ป่วย อุปกรณ์อย่างถังออกซิเจน ภาวะของร่างกายที่อาจมีได้ เช่น อาการเหนื่อย อาการเจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แผลกดทับ การสำลักที่สามารถเกิดกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลืนอาหารได้
ส่วนของผู้ดูแล อิรชิฏา ดูแลทุกด้านในบ้านตลอดทั้งวันทั้งคืนด้วยตัวเอง ตั้งแต่การทำอาหาร จัดยา การขับถ่าย การใช้แผ่นบรรเทาอาการปวดตามร่างกายที่ต้องเปลี่ยนทุก 72 ชั่วโมง ประสบการณ์ในช่วงการดูแลที่วิกฤตช่วงหนึ่งที่อิรชิฏาพบ เป็นเหตุการณ์ที่คุณแม่สำลักน้ำลายตัวเอง เธอยอมรับว่าตกใจอย่างมาก เธอแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการลูบหลังและเป่าลมที่ใบหน้าของแม่ จนกระทั่งอาการคลายลง
หลังจากนั้นเธอขอคำปรึกษาจากแพทย์ ทำให้รู้ว่านี่คืออาการที่ผู้ป่วยทุกคนที่มีอาการในระยะท้ายจะต้องเจอ คำแนะนำคือการให้อาหารอาจจำเป็นที่ต้องใช้สายยางให้อาหารเข้าช่วย การให้ดื่มน้ำทำอย่างไร
"คุณหมอจะบอกหมด จะให้ทานอาหารแบบปกติไม่ได้แล้วเพราะว่าจะเสี่ยงมากค่ะ ต้องมีวิธีการให้น้อย ๆ"
"ไม่ได้ยากลำบากเกินกว่าที่ลูกคนนึงจะทำให้คุณแม่ได้แน่ ๆ ถ้าทุกคนอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเราก็ต้องทำได้"
คำถามหนึ่งที่ผู้เขียนสงสัยเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือ เมื่อเวลานั้นมาถึงจริง ๆ เราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง
ในช่วงเดือนสุดท้ายของชีวิต อิรชิฏา บอกว่า คุณแม่หลับยาวนานขึ้น
เธอได้รับคลิปวิดีโอว่าด้วยเรื่องวิชาชีวิตจากเยือนเย็นที่อธิบายห้วงเวลาสุดท้ายว่า สมองของมนุษย์กำลังจะถูกดับลง ไม่ต่างจากไฟที่กำลังจะทยอยดับลงทีละดวง ผู้ป่วยจะไม่กิน ไม่กล่าว ไม่กลืน พอสมองหยุดทำงานแล้ว ชีวิตนั้นก็จะจากไป
"อาการที่เราเห็น คือเป็นอาการที่เริ่มบอกแล้วว่าท่านจะไม่ต้องการอาหาร ท่านพร้อมจะจากครอบครัวไปแล้ว เราก็รอค่ะ รอให้ท่านตื่นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อดูว่าท่านต้องการอะไร มีอยู่วันหนึ่งท่านตื่นขึ้นมา เราจัดน้ำให้ท่านทาน โดยใช้หลอดหยอดไปน้อย ๆ แต่ท่านไม่ต้องการ ท่านมองดูเรา แล้วท่านก็ค่อย ๆ หายใจ หอบถี่ขึ้น เสร็จแล้วปุ๊ป เราก็แจ้งไปทางคุณหมอและทีมงาน ก็เริ่มจัดยาให้อมใต้ลิ้น ผ่านไปสักระยะหนึ่ง คุณแม่ยังไม่หลับ ยังไม่นิ่ง ก็เลยพูดถึงบุญให้ท่าน บุญที่เคยทำมา....แล้วลูบตัวและเรียกชื่อแม่ ให้แม่สุขสงบ พบทางสว่างปราศจากความมืดมน พูดอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จนเที่ยงเศษ ๆ 12.47 น. คุณแม่ก็หลับ หลับลงไปพร้อมกับไม่ตื่นมาอีกแล้ว หลับไปอย่างสงบไปพร้อมกับบุญที่ท่านนึกถึงตลอด เป็นความรู้สึกที่ว่าท่านไม่ทรมานอีกแล้ว"
การดูแลแบบประคับประคอง อีกทางหนึ่งคือการเตรียมตัวให้กับสมาชิกในครอบครัวพร้อมเผชิญหน้ากับความสูญเสียบุคคลในบ้าน
“ตอนช่วงที่รู้ว่าคุณแม่ต้องจากไป แต่ไม่ทราบวันไหน ก็คิดถึงวันนั้นจริง ๆ ว่าเราจะทำยังไง เราคงจะทำใจยากไหม แต่พอถึงวันนั้นจริง ๆ เรารวบรวมทุกอย่างได้ เพราะเราทราบอยู่แล้ว พอถึงเวลาสติมาเร็ว เมื่อเราทราบอะไรมาก่อน เราจะตัดสินใจได้ดีกว่าที่เราไม่เคยรู้อะไรมาก่อนเลย ทุกอย่างจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ”
ศ.นพ. อิศรางค์ นุชประยูร ศาสตราจารย์ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก เห็นความเป็นไปของเด็กคนแล้วคนเล่าที่ต่อสู้กับมะเร็งในระยะลุกลาม ทั้งรับยาพุ่งเป้า ฉายแสง และรับเคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งให้หมดสิ้นต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด ทำให้ผู้ป่วย “เหมือนเอาตัวเองเป็นสมรภูมิรบที่สมรภูมิต้องเจ็บตัวไปด้วย”
“ทำงานมาสักพัก ก็จะตระหนักว่าจริงหรือทำไมทุกคนต้องเจ็บตัวอย่างมากก่อนตาย มันใช่สิ่งที่ดีที่สุดหรือเปล่า” นี่คือ คำถามที่คุณหมออิศรางค์มี เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ก่อนมาเป็น ผอ. วิสาหกิจเพื่อสังคมเยือนเย็น
จากประสบการณ์ในการรักษามะเร็งในเด็ก คุณหมออิศรางค์บอกว่า หากถามผู้ป่วยเด็กจะพบความจริงว่า เด็กไม่ได้อยากได้ของ “พวกนี้” เลย เด็กไม่สนใจเลยว่าชีวิตหรืออนาคตจะเป็นอย่างไร แต่พวกเขาแค่ไม่อยากเจ็บตัว แค่อยากกินอิ่ม เล่น ไปหาเพื่อน แต่ทั้งหมดที่พยายามหาทางรักษาไม่ว่าทางใด เป็นความต้องการของผู้ใหญ่ ทั้งหมอและแม่ ทั้งสิ้น
คุณหมออิศรางค์ เริ่มใช้วิธีการที่เรียกว่า “การอยู่กับมะเร็งอย่างสันติ” เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตเต็มที่อย่างมีความสุข เป็นทางเลือกหากรู้ว่ารักษาไม่หาย ความท้าทายสำคัญของการที่จะเดินไปในทางนี้ คือ จะทำอย่างไรกับ “คนที่ยังมีความหวัง”
“ถ้าถามตรง ๆ ว่าเอายังไงดี เขา (แม่เด็ก) บอกอยากหายทำไงหมอ หมอก็บอกให้ยา ให้ยาแล้วเรารู้อยู่ดีว่าไม่หายหรอก แต่พวกเขาก็จะเชื่อว่า ต้องหายสิ เถียงเรื่องนี้ไม่จบ... เราเลยค้นพบวิธีการ ที่ถามคนป่วยว่า ถ้ารอบนี้หาย อยากทำอะไร”
คำถามจากแพทย์ คือ “แล้วทำ ไม่ทำล่ะ” เพราะบางคำตอบจากผู้ป่วยเด็กนั้นเรียบง่าย แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีความเชื่อบางอย่างจากไม่ว่าทั้งผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดเอง ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ
“ความท้าทายมันอยู่ที่ญาติเขาหรือลูกบางคน ไม่เคยได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ เข้าใจว่าจะต้องยื้อชีวิต เราก็นั่งคุยกันจริง ๆ ว่า เจ้าของชีวิตเขาบอกว่า ฉันโอเค ชีวิตฉันไม่ได้อยากยืด แต่คุณอยากยืดชีวิตเพื่ออะไร”
การดูแลเด็กป่วยมะเร็งระยะลุกลาม ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เป็นจุดเริ่มต้นที่คุณหมออิศรางค์ ใช้การรักษาแบบประคับประคองในปัจจุบัน แรกเริ่มคุณหมออิศรางค์ได้นำแนวคิดนี้ไปพูดคุยในหมู่แพทย์ ผลออกมาแม้ว่าจะเห็นไปในทางเดียวกัน แต่ด้วยภาระผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่มีจำนวนมาก ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้กระบวนการนี้ จึงเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของวิสาหกิจเยือนเย็น ที่ผู้ป่วยและญาติ สามารถเข้าถึงได้โดยตรง
“การประคับประคอง คือ การใช้ชีวิต ไม่ได้พูดถึงเรื่องตายเลย คือการใช้ชีวิตทั้งหมด ใช้ชีวิตอยู่กับโรคที่รักษายาก โดยที่ไม่ต้องไปสนใจตัวโรค แต่เติมเต็มความสุขของตัวผู้ป่วยเอง”
เมื่อได้ยินเรื่องนี้ครั้งแรก คำถามคือ ในประเทศไทยรู้จักเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
ประเทศไทยได้เริ่มต้นการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายตั้งแต่ปี 2540 แต่น้อยคนนักจะรู้จักว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองนั้นเป็นอย่างไร
ศ.นพ. อิศรางค์ ซึ่งมีอีกหมวกหนึ่งเป็นอุปนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า หน่วยดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของโรงพยาบาล ปัจจุบันมีในโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดละ 1 แห่ง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง แต่ผู้ป่วยยังเข้าถึงช้า เพราะต้องรอการส่งต่อจากแพทย์เจ้าของไข้เสียก่อน ผู้ป่วยจึงได้รับการดูแลก่อนตายเป็นส่วนใหญ่
บีบีซีไทยได้ข้อมูลจากญาติผู้ป่วยที่เข้ารับการดูแลการรักษาแบบประคับประคองของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งพบว่า พยาบาล 1 คน ต้องดูแลให้คำปรึกษาทางไกลกับญาติมากถึง 30 คน
อย่างไรก็ตาม คุณหมออิศรางค์ บอกว่า ผู้ป่วยโรคร้าย โรครักษายาก และผู้สูงอายุที่แม้ยังแข็งแรงดีควรได้รับการสนทนาเพื่อการวางแผนการดูแลล่วงหน้า และหากไม่ต้องการยื้อชีวิต ก็เลือกดูแลโดยแพทย์ด้านประคับประคองตั้งแต่แรก
"เยือนเย็นเป็นหน่วยงานเดียวที่ปลดล็อกประเด็นการส่งต่อ ผู้ป่วยสนใจ ปรึกษาเราโดยตรง คุยกันแล้วถูกใจก็ดูแลที่บ้านได้ จึงลดภาระของโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข" ศ.นพ. อิศรางค์ กล่าว
เมื่อดูสัดส่วนของการมีบุคลากรสุขภาพที่เป็นพยาบาลในหน่วยดูแลแบบประคับประคองโดยเฉพาะแล้ว รวมทั้งประเทศมีอยู่ 3,000 คน ขณะที่ตัวเลขการเสียชีวิตแต่ละปีของคนไทยอยู่ที่ 600,000 คนตัวเลขนี้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายราว 56.8 ล้านคน ที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง แต่มีเพียง 14% เท่านั้น ที่ได้รับการดูแลระยะสุดท้ายโดยเฉพาะดังกล่าว
2023-01-15T04:57:51Z dg43tfdfdgfd